
เล่าเรื่อง “จีน-ไทย ในกระจกบานเดียวกัน” ที่หอศิลป์กรุงไทย
สมาคม นักเขียนแห่งประเทศไทยนำโดย คุณชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมฯ และ ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหารบมจ. ธนาคารกรุงไทย ร่วมมือกันอีกครั้งหนึ่งในการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการจัดงานอ่านบทกวี “ความรักในสวนโลก” เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยกิจกรรมล่าสุดที่เพิ่งจัดในวันอาทิตย์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๒ นั้น คือ กิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย-จีน ในโอกาสเฉลิมฉลองวาระแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีนครบ ๓๔ ปี ณ ห้องไมตรีจิตต์ ชั้น ๔ หอศิลป์กรุงไทย เยาวราช กรุงเทพมหานคร
บรรยากาศการจัดงานถึงแม้ว่าจะไม่มีโคมไฟสีแดง ไม่มีต้นไผ่ประดับตามมุมต่าง ๆ แต่ก็อบอวลไปด้วยสายสัมพันธ์ของพี่น้องไทย-จีนจากบรรดาแขกผู้มีเกียรติที่มา ร่วมงาน ที่มีทั้งลูกค้าของธนาคารฯ และนักธุรกิจย่านเยาวราช รวมไปถึงพี่ ๆ น้อง ๆ จากคนในแวดวงวรรณกรรมก็มาร่วมงานกันอย่างคึกคัก แขกบางส่วนเริ่มทยอยมาเข้างานก่อนเวลาที่กำหนดเพื่อจะได้มีเวลาเยี่ยมชม ส่วนอื่น ๆ ของหอศิลป์ อาทิ บูธจำหน่ายหนังสือแปลนวนิยายจีนผลงานของ น. นพรัตน์ ที่เจ้าตัวมาแจกลายเซนต์ด้วยตนเอง ณ ชั้น ๑ / ห้องแสดงนิทรรศการภาพเขียนที่จัดแสดงประจำ ณ บริเวณชั้น ๒ / ห้องแสดงนิทรรศการภาพวาดพู่กันจีนและอักษรจีนที่บริเวณชั้น ๓ (จัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๒๐ ก.ค. ถึง ๑๑ ส.ค. ๕๒) เป็นต้น
เริ่มต้นด้วย วรเนาว์ ดลเสมอ พิธีกรจากกรุงไทย เชิญ ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารกรุงไทย ขึ้นเวทีกล่าวต้อนรับและเปิดงาน “กิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย-จีน” อย่างเป็นทางการโดยได้กล่าวความช่วงหนึ่งว่า... “ที่เราพยายามจัดรายการแบบนี้ เราต้องการส่งเสริม ความชื่นชมความซาบซึ้งในศิลปะหลาย ๆ แขนง คราวที่แล้วเราจัดรายการพิเศษร่วมกับสมาคมนักเขียนฯ ในรายการอ่านบทกวี คราวนี้เราก็ขยายมาเป็นเรื่องวรรณกรรมในมิติของไทย-จีน และแถมด้วยเสียงเพลง -- และก็เป็นโอกาสพิเศษมาก ๆ ที่เราถือว่างานของเราเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรม ไทย-จีน ที่เราได้ในมิติของความเป็นจีนและไทยอยู่ในวันนี้หลาย ๆ อย่าง”
และในโอกาสเดียวกันนี้ อาจารย์ชัชวาลย์ และอาจารย์นิธิรุจน์ จากสมาคมศิลปะบูรพาแห่งประเทศไทย ได้มอบภาพเขียนพู่กันจีนที่มีความหมายสอดคล้องกับการจัดงานให้เป็นที่ระลึก ในวาระที่ได้มาแสดงนิทรรศการที่หอศิลป์แห่งนี้ อาจารย์นิธิรุจน์ได้กรุณาแปลเป็นภาษาไทยให้ฟังว่า... “ที่นี่เป็นการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมและรวบรวมผลงานของผู้มีชื่อเสียง และความสัมพันธ์ไทย-จีนก็แน่นแฟ้นยืนยงขึ้นโดยผ่านจากงานศิลปะครั้งนี้ด้วย”
ทางฝ่ายสมาคมนักเขียนฯ คุณชมัยภร แสงกระจ่าง ก็ได้อ่านบทกวีชื่อ “ลายไผ่กับลายดอกบัว” ที่แสดงถึงสายสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างไทย-จีน ซึ่งประพันธ์ขึ้น สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ...
“ดอกบัวงามสีชมพูอยู่ในน้ำ ไผ่งามล้ำโบกปลายใบสีเขียว
สายลมอ่อนพัดโบกโยกใบเรียว ลมแล่นเลี้ยวลงน้ำระบำบัว
เป็นภาพทองในกรอบงามเก่าคร่ำคร่า เป็นภาพยืนหยัดมารู้กันทั่ว
ภาพใบไผ่อ่อนพลิ้วปลิวระรัว ภาพดอกบัวสงบเย็นเห็นเต็มตา
ภาพกลมกลืนกันได้ไม่ขัดแย้ง ภาพแสดงความสัมพันธ์อันสูงค่า
ลายดอกบัวลายไผ่ในพื้นฟ้า คือสัญญาคือทรงจำจดรำลึก
คือสายใยไทย-จีน ศิลป์ วัฒนธรรม คือลวดลายตอกย้ำให้รู้สึก
คือพ่อ-แม่ ปู่-ย่า มานานนึก ผูกสัมพันธ์ตรองตรึกมาลึกซึ้ง
สุโขทัย อยุธยา มารัตนโกสินทร์ กี่แผ่นดินโยงสายใยใจเป็นหนึ่ง
แผ่นดินไทยโอบเอื้อเกื้อตราตรึง สองเราจึงเป็นจีน-ไทยเป็นสายสัมพันธ์
ก้าวเข้ามาก่อเกิดใหม่ให้และผูก ด้วยไมตรีมีหลานลูกสืบสายขวัญ
สายสกุลวัฒนธรรมคำจำนรรจ์ หลอมรวมกันเป็นสายใยในแผ่นดิน
แยกจีน-ไทยออกไปตรงไหนหรือ ในเมื่อคือหนึ่งใจเนื้อในสิ้น
เหมือนภาพเขียนเหมือนเพลงบรรเลงยิน รวมสายจินต์รวมสายใจไผ่กับดอกบัว”
หลังจากนั้น ผู้ดำเนินรายการ คุณนิเวศน์ กันไทยราษฎร์และคุณบูรพา อารัมภีร สองอุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นำเข้าสู่การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คนเก่าเล่าเรื่องจีน” จากครูใหญ่ (สมาน) นภายน -- ครูใหญ่เกิดปี พ.ศ. ๒๔๖๗ มีอายุ ๘๕ ปี เป็นครูเพลง นักแต่งเพลง นักร้อง นักเขียน นักเล่าเรื่อง ในอดีตเคยเป็นหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์มากว่า ๒๐ ปี และเคยได้รับการเชิดชูเกียรติให้ป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมจากกระทรวง วัฒนธรรม
ครูใหญ่ก็เป็นคนหนึ่งที่มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เกิดและเติบโตในย่านของคนจีน คือ แถวสี่พระยา หลังวังแก้วฟ้า ที่มีทั้งพี่น้องชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน และกวางตุ้งห้อมล้อมในละแวกบ้านเดียวกัน เพื่อน ๆ ส่วนมากก็เป็นลูกคนจีนที่เรียนโรงเรียนประชาบาลมาด้วยกันทั้งสิ้น ชื่อของครู คือ “ใหญ่” ซึ่งตรงกับภาษาจีนว่า “ตั้ว” โดยเป็นชื่อจีนที่แม่ของเพื่อนตั้งให้ และด้วยเหตุที่มีเพื่อนและบ้านพักในย่านคนจีนครูใหญ่จึงพอฟังภาษาจีนรู้ เรื่องอยู่บ้าง
ครูใหญ่เล่าว่าเมื่อสมัยเป็นเด็ก ยอมหนีโรงเรียนเพื่อไปรับจ้างแจกใบปลิวบนรถม้าได้ค่าตอบแทนมาหนึ่งสลึง ซึ่งก็เรียกได้ว่ามีมูลค่ามากในสมัยนั้น แต่กว่าจะได้เงินตอบแทนก็ต้องแจกใบปลิวให้หมดก่อน ครูใหญ่จึงใช้วิธีไปที่ “เขียงหมู” และให้ปึกใบปลิวทั้งปึกนั้นแก่คนขายหมูเอาไว้ห่อหมูขาย เพื่อให้ใบปลิวที่ตนเองรับผิดชอบมาแจกนั้นจะได้หมดเร็ว ๆ ครูบอกว่านี่ใช่กลโกงแต่เป็นการใช้ปัญญาแก้ปัญหาต่างหาก นอกจากนี้ครูใหญ่ยังบอกอีกว่า ในสมัยก่อนเยาวราชก็เป็นย่านที่มีอาหารจีนมากที่สุดไม่แพ้สมัยปัจจุบัน “สมัยผมเป็นเด็กพ่อพาไปกินข้าวเหนียวหมูแดงร้านเกี้ยมอี๋ ห่อละ ๑๐ สตางค์ มีทั้งหมูแดง หมูกรอบ หมูอบ มีข้าวเหนียวห่อหนึ่ง ใส่ซีอิ้วและใส่หมูและก็ห่อกลับบ้าน และก็มีร้านโจ๊กอยู่ร้านหนึ่งจานละ ๑๐ สตางค์ ถ้าเอากลับบ้านต้องใส่กระปุกตั้งฉ่าย เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนบ้านใครที่เป็นบ้านคนจีนต้องมีกระปุกตั้งฉ่ายเพื่อเอา มาใส่โจ๊ก ๑๕ สตางค์ (ใส่ไข่) และนี่ก็เป็นผลพลอยได้ของเด็กอย่างพวกผมก็ไปตามบ้านตามหน้าต่างห้องครัวเขา จะทิ้งกระปุกนี้ไว้ เราก็เก็บกระปุกนี้ไปใส่ตะกร้าแล้วเอาไปขายที่ร้านโจ๊ก แล้วเขาก็ให้โจ๊กเรามากินอีกทีหนึ่ง”
หลังจบการบรรยายจากคนรุ่นเก่าอย่างครูใหญ่ นภายน แล้ว เป็นการคั่นรายการด้วย “เพลง ดนตรี กวี ไทย-จีน (ช่วงที่ ๑)” จากนักร้องกิตติมศักดิ์ทั้ง ๓ ท่าน คือ ท่านแรก ดร. ญาดา อารัมภีร ร้องเพลง “ชีวิตนี้ฉันขาดเธอไม่ได้” ที่มิสเก้อหล่างร้องไว้ในภาพยนตร์เรื่อง “หงส์หยก” เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านที่ ๒ คุณบูรพา อารัมภีร ร้องเพลง “ม่วยจ๋า” ซึ่งประพันธ์โดยครูสุรพล โทณะวณิก และท่านที่ ๓ คุณนิเวศน์ กันไทยราษฎร์ ร้องเพลง “ปาป๊า มาม้า” ที่ “ดำ ฟอเรฟเวอร์” เคยร้องไว้ จากนั้น คุณแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้ดำเนินรายการในช่วงต่อไปนำเข้าสู่การอภิปราย “จีน-ไทย ในกระจกบานเดียวกัน” โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ๓ ท่าน คือ คุณปนัดดา เลิศล้ำอำไพ / ดร. ญาดา อารัมภีร และคุณยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง หรือ “เข็มพลอย” ทั้ง ๓ ท่านเป็นนักเขียนอิสระมีคอลัมน์อยู่ในนิตยสารหลายเล่ม เช่น นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์และหนังสือต่วย’ ตูนเป็นต้น
ด้วยความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่มีการสถาปนาครั้งใหม่ คือวันที่ ๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ คุณปนัดดาจึงเริ่มต้นการอภิปรายให้เห็นถึงภาพรวมกว้าง ๆ ของประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนว่าเป็นมาอย่างไร คุณปนัดดาเล่าย้อนถึงความสัมพันธ์ตั้งแต่ยุครัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมาจนถึงประมาณปีพ.ศ. ๒๕๑๕-๑๘ คือก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ครั้งใหม่ ความสัมพันธ์ครั้งนั้นเรียกว่าตกอยู่ในช่วงมรสุม โดยมีสาเหตุใหญ่ ๆ มาจากการต่อสู้กันทางลัทธิการเมืองของจีน ความเคลื่อนไหวของคนจีนในไทยที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามความผันแปรทางการเมืองของจีนเป็นหลัก กว่าที่ความสัมพันธ์จะสงบลงได้อย่างแท้จริงคือราวปีพ.ศ. ๒๕๑๘ ที่ความสัมพันธ์ค่อย ๆ ขึ้นสู่กระแสสูงอีกครั้ง ผ่านมา ๓๐ กว่าปีจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าความสัมพันธ์ไทย-จีนอยู่ในขั้นดีเลิศ นโยบายการต่างประเทศของจีนให้สถานภาพแก่ประเทศไทยมากในฐานะที่เป็นจุดศูนย์ กลางของความสัมพันธ์ของจีนในแถบเอเชีย รัฐบาลจีนในปัจจุบันมีภูมิความรู้ที่ลึกซึ้งมองเหตุการณ์ทุกอย่างด้วยสายตา ที่ยาวไกล ทั้งมองย้อนกลับไปในอดีตและวางแผนไปสู่อนาคต
ลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรมของสังคมไทยที่โดดเด่นมาแต่ไหนแต่ไร คือ ความเปิดกว้าง ให้โอกาสและเอื้อเฟื้อต่อชนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาอยู่ในแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็น จีน จาม แขก มอญ พม่า ลาว ญวน ทั้งยังมีความสามารถในการกลืนกายคนเชื้อชาติต่าง ๆ นั้นให้เข้าสู่ความเป็นไทยได้ในที่สุด โดยกระบวนการทางบวก คือไม่ได้บังคับหรือกำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ จนทำให้คนต่างชาติทั้งหลายยินดีที่จะเปลี่ยนแปลงกลายเป็นคนสยามหรือคนไทย ด้วยความสมัครใจของตน คุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ได้กลายเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งในการที่จะช่วยไขและ เปิดประตูประเทศเข้าสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างไม่เนิ่นช้า ในสยามคนจีนได้เข้ามาเป็นชนชั้นพ่อค้า ที่มีแต่นายกับไพร่ ขาดแคลนชนชั้นกลางที่มีความเป็นอิสระเดินทางค้าขายได้ คนจีนได้เข้ามาเติมช่องว่างนี้ให้กับสังคมไทยและพัฒนาต่อมาเป็นผู้ประกอบ ธุรกิจน้อยใหญ่ในยุคพัฒนาเศรษฐกิจ คือ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จวบจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ คุณปนัดดายังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ความเอื้อเฟื้อของเจ้าบ้านผู้อารีย์อย่างราชวงศ์จักรีของสยามนี้นับว่าได้ ผลตอบแทนที่คุ้มค่า สมดังที่พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงวินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนว่า... พวกจีนที่เข้ามาอยู่ในสยามนี้ย่อมทำการเป็นความเจริญแก่แผ่นดินของเราเป็น อันมาก และในทางตรงกันข้ามชาวจีนอพยพที่เลือกมาอยู่สยามนับว่าเป็นผู้โชคดีกว่า เพื่อนร่วมชาติที่แล่นเรือไปขึ้นฝั่งที่ถิ่นอื่น แคว้นอื่น ในดินแดนทะเลใต้ เพราะไม่ต้องประสบเหตุเภทภัยในรูปแบบต่าง ๆ อย่างที่คนจีนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือในเวียดนามต้องได้รับ คนจีนอพยพและลูกหลานสามารถอยู่ดีมีสุขมีความเจริญรุ่งเรืองที่มั่นคง ได้สถานภาพเป็นประชาชนเต็มขั้น ไม่ใช่พลเมืองต่างด้าว ไม่ได้เป็นคนนอกของสังคมไทยอย่างกับคนจีนในหลาย ๆ ดินแดนทั่วโลกที่มีสถานภาพเป็นเพียงคนนอกของสังคมนั้น ๆ ไปตลอดกาล”
ทางด้าน ดร. ญาดา ผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนแซ่ตั้งเปิดการอภิปรายในมิติของภาษา วรรณกรรมและวรรณคดี... “จะว่าไปจีน-ไทยก็ใช่อื่นไกลก็เป็นพี่น้องกันจริง ๆ ซึ่งถ้าจะถามว่าชาติไหนหลอมรวมกับคนไทยได้ดีที่สุด กลมกลืนทางวัฒนธรรมกับคนไทยได้ดีที่สุดก็คือชาติจีนนี่แหละ จีน-ไทยใกล้ชิดกันมานานเกือบพันปีตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยเสียอีก”
ภาษาไทยหลาย ๆ คำที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันก็เอามาจากภาษาจีน เช่น ซาลาเปา เกาเหลา เต้าทึง เต้าฮวย ก๋วยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยว ออส่วน จับฉ่าย เฉาก๊วย ตือฮวน เก้าอี้ ตะหลิว จับกัง เป็นต้น
วรรณคดี รัตนโกสินทร์หลายเรื่องที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับคนจีนเอาไว้ เช่น สังข์ศิลป์ชัย ที่รัชกาลที่ ๓ ทรงเล่าถึงตัวละครที่เป็นทั้งนายสำเภาและล้าต้า (คนถือบัญชี) ว่าคนพวกนี้เดินทางมาจากเมืองจีนโดยทางเรือสำเภา
“มาจะกล่าวบทไป ถึงจีนนายสำเภาล้าต้า
ใช้ใบจากกวางตุ้งมุ่งมา จะเข้าเมืองปัญจาเวียงชัย”
เวลา ที่แต่งวรรณคดี คนแต่งก็จะหยิบข้อมูลที่มีอยู่ในสมัยนั้นมาใส่ เช่น มีชาวต่างชาติมาอยู่ในบ้านเมืองก็จะใส่เป็นรายละเอียดบ้าง เป็นบรรยากาศบ้าง และในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าท่านมีพระสมญานามว่า “เจ้าสัว” ค้าขายกับจีนและทรงโปรดของจีน
คนจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยส่วนใหญ่จะ เป็นคนจีนแต้จิ๋ว ซึ่งจัดได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูก ทำไร่ ทำสวน ปลูกผัก เมื่อได้ผลผลิตมาแล้วก็มาจำหน่ายคนไทยอีกทีหนึ่ง และคนจีนแต้จิ๋วเหล่านี้ก็เป็นทั้งเกษตรกรมืออาชีพและเป็นแรงงานรับจ้าง ด้วย ดังที่สุนทรภู่เขียนเอาไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า
“ถึงท้องธารศาลเจ้ารับเขาขวาง
พอได้ทางลงมหาชลาไหล
เขาถามเจ๊กลูกจ้างตามทางไป
เป็นจีนใหม่อ้อแอ้ไม่แน่นอน
ร้องไล้ขื่อมือชี้ไปที่เขา
ก็ดื้อเอาเลียบเดินเนินสิงขร”
ส่วนคำว่า “จับกัง” ที่ได้เอ่ยถึงไปในตอนต้น ดร. ญาดาได้กล่าวเสริมว่า เป็นคนจีนแต้จิ๋วกลุ่มใหญ่ที่อพยพมาอยู่ในไทยโดยใช้แรงงานเป็นหลัก เช่น รับจ้างแจวเรือ (วรรณคดีบอกไว้) ตีเหล็ก ปลูกและขายผัก-ผลไม้ ขายผ้า ต้มเหล้า และขายหมู ดังเช่นนิราศเมืองเพชรที่สุนทรภู่เขียนไว้...
“ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข
เมียขาวขาวสาวสวยล้วนรวยโป หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก”
นอกจากนี้ ดร. ญาดายังยกตัวอย่างบทนิราศพระปฐมของมหาฤกษ์ที่แต่งบทกวีแสดงถึงความน้อยเนื้อ ต่ำใจในสภาพของตนที่เป็นอยู่ที่เรียนมาเยอะแต่ไม่มีโอกาสร่ำรวยเท่าคนจีน ซึ่งเมื่อเทียบกับคนจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทย ความรู้ก็ไม่มี หนังสือก็ไม่ได้เรียน แต่อาศัยความมุมานะพยายามจนได้เป็นใหญ่เป็นโต...
“ถึงโรงเจ้าภาษีฆ้องตีดัง
ตู้หอนั่งแจ่มแจ้งด้วยแสงเทียน
ไว้หางเปียเมียสาวขาวสร่าง
เป็นจีนต่างเมืองมาแต่พาเหียน
ที่ความรู้สิ่งไรก็ไม่เรียน
ยังพากเพียรมาได้ถึงใหญ่โต
เห็นดีแต่วิชาขาหมูใหญ่
เราเป็นไทยนึกมาน่าโมโห
มิได้ทำอาหารและบ่อนโป
มาอดโซสู้กรรมทำอะไร”
และในฐานะที่คุณยุวดีผู้สืบเชื้อสายจีนกวางตุ้ง คุณยุวดีจึงเล่าถึงวีถีชีวิตของคนกวางตุ้งเสียเป็นส่วนใหญ่ “ในช่วงปีที่มีการอพยพกันมากของชาวจีน ในการรับรู้ของคนไทยจะเป็นคนจีนแต้จิ๋ว เพราะว่าทั้งวรรณกรรม วรรณคดีก็ถอดเสียงด้วยเสียงแต้จิ๋ว แต่จริง ๆ แล้วคนจีนอพยพที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกคือคนจีนกวางตุ้ง เพราะว่าคนกวางตุ้งอยู่ติดทะเล คนที่อยู่ริมทะเลจะมีโอกาสมาได้มากที่สุด เพราะว่าพอข้ามฝั่งมาที่ท่าเรือฮ่องกงได้แล้วก็ขึ้นเรือไปต่อได้ทั่วโลก” ซึ่งปัจจุบันนี้ย่านบางรัก สาทร เรียกได้ว่าเป็นย่านที่มีคนกวางตุ้งอยู่เยอะที่สุด เพราะแถบนั้นจะมีท่าเรือกรุงเทพและมีเรือมาจอดตามโกดังต่าง ๆ ตลอดเวลา เมื่อเรือเทียบท่าและขนถ่ายสินค้าแล้วก็ต้องมีการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมส่วน ต่าง ๆ ของเรือ ซึ่งคนกวางตุ้งย่านนั้นเป็นช่างกลึงที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญอาศัยอยู่ เป็นจำนวนมาก
คุณยุวดียังได้พูดถึงภูมิปัญญาของชาวจีนที่นำมาเผยแพร่ในไทย ได้แก่ น้ำปลา ซึ่งคนแต้จิ๋วเป็นผู้คิดค้นขึ้นมา ส่วนคนกวางตุ้งจะคิดค้นซีอิ้วขาว ซีอิ้วดำ น้ำมันหอย หรือเต้าเจี้ยว สำหรับงานในเชิงวรรณกรรมที่คุณยุวดีได้เขียนไว้ที่เกี่ยวกับคนกวางตุ้งคือ นวนิยายเรื่อง อาสำกับหยำฉ่า - สืบตำนานคนกวางตุ้งกรุงสยาม (อาสำคือพวกแม่บ้าน / หยำฉ่าคือพวกผู้หญิงหากิน) โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักคนจีนกวางตุ้ง จึงอยากเขียนเพื่อให้คนทั่วไปทราบว่าคนกวางตุ้งมีตัวตนอยู่ในสังคม เรื่องกวางตุ้งเฮฮา เป็นการเขียนรวมเรื่องราวสนุก ๆ ของคนกวางตุ้งเข้าไว้ด้วยกัน เรื่องครัวอาสำ สืบนื่องจากครอบครัวชอบทำกับข้าวจึงมีความรู้ความสามารถเรื่องการทำอาหารจึง ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ และเรื่องรอยวสันต์ (ได้รับรางวัลชมนาดบุ้คไพรส์) เรื่องนี้คุณยุวดีได้รับแรงบันดาลใจมาจากคนอาสำที่ตนเองเคยคลุกคลีอยู่ด้วย ตั้งแต่เล็ก ๆ และตนเองก็ฟังภาษาจีนออกจึงได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับอาสำทั้งหลายว่าเป็นอย่างไรและเหมือนกับรู้สึกว่าอยากถ่ายทอดอยากเล่าให้ คนอื่น ๆ ได้รับรู้ด้วย จึงได้เขียนเป็นนวนิยายขึ้น ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าจะพยายามตั้งเป็นปณิธานไว้ว่าจะเขียนเรื่องราวของคน กวางตุ้งให้คนไทยได้รับรู้ต่อไป
สรุปท้ายวันนั้น ดร.ญาดา อารัมภีร กล่าวว่า
“พระยา อนุมานราชธน ผู้มีเชื้อสายจีนเคยกล่าวถึงตัวเองในฐานะชาวจีนในเมืองไทยไว้ว่า... ข้าพเจ้า แม้จะเป็นพันธุ์ลูกผสมแต่ก็ถือตนด้วยความหยิ่งว่าข้าพเจ้าเป็นไทยแท้ สมบูรณ์ทั้งชีวิตจิตใจว่าตนเป็นคนไทยทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนอื่นซึ่งรักถิ่นไทย รักวัฒนธรรมไทย ทั้งนี้เป็นด้วยเหตุอะไรตอบได้ทันทีว่า เป็นเพราะข้าพเจ้าเกิดอยู่ในประเทศไทย และวัฒนธรรมไทยนี้เองที่ปั้นข้าพเจ้าให้ชีวิตและจิตใจให้เป็นไทยมาตั้งแต่ อ้อนแต่ออกตราบเท่าทุกวันนี้”
ส่วนคุณปนัดดา เลิศล้ำอำไพ กล่าวว่า
“สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากของ วัฒนธรรมจีนที่ทำให้จีนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แตกแยกออกจากกัน ก็คือการที่จีนมีภาษาเขียนเพียงภาษาเดียว จะแตกต่างที่ภาษาพูดที่จะออกเสียงตามแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น -- จีน-ไทยในกระจกบานเดียวกันเป็นคำที่เพราะมาก มองไปด้านหนึ่งก็เป็นจีน มองไปอีกด้านหนึ่งก็คือคนไทย แล้วคนจีนก็โชคดีที่ได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทย เมืองไทยก็โชคดีที่เปิดแขนอ้ารับคนจีน -- คนจีนอยู่ดีมีสุขและก็กลายเป็นกำลังสำคัญของเมืองไทย แต่ไม่โอ่อวด ไม่ก้าวร้าว เคารพเจ้าของสถานที่ เคารพเจ้าบ้านเจ้าเมืองเสมอ นี่คือนิสัยของคนจีนที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ยิ่งมีสำนึกแห่งความเป็นจีนเท่าไหร่ยิ่งอ่อนน้อมเท่านั้น”
ปิดท้ายรายการกิจกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย-จีนในวันนั้นด้วย “เพลง ดนตรี กวี จีน-ไทย (ช่วงที่ ๒)” กับนักร้องกิตติมศักดิ์อีก ๔ ท่าน ได้แก่ คุณสันติ วิลาศศักดานนท์ ร้องเพลง “เทียนหมี่มี่และเกาซานฉิง (ภาษาจีน)” ดร. อนุชิต อนุชิตานุกูล ร้องเพลง “หนูรักข้าวสาร (ภาษาจีน)” ดร. ญาดา อารัมภีร ร้องเพลง “เทียนหมี่มี่ (ภาษาจีน)” และดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ร้องเพลง “ลอดลายมังกร”
“ก็ถือว่าเป็นการจบรายการของเรา ซึ่งตอนที่กล่าวเปิดบอกว่าเป็นรายการที่เราจัดกันอย่างสนุกสนานแต่เมื่อถึง ช่วงอภิปราย... ออกมาเชิงวิชาการซึ่งไม่หนักมาก เพราะผู้พูดแต่ละคนพูดด้วยความรอบรู้และมีลูกเล่นทำให้เรื่องราวสนุก สนาน... ก็ขอขอบคุณทั้งสามท่านมากที่ได้มาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนจีนเป็น อย่างดี และทำให้บรรยายกาศของงานในวันนี้มีหลายมิติ ที่มีทั้งมิติของศิลปะวัฒนธรรม ความรู้ ความเข้าใจและความสนุกสนานที่รวมเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว....” --- ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์
คนเก่าเล่าเรื่องจีน.. ไปสู่การอภิปราย จีน-ไทย ในกระจกบานเดียวกัน... และจบลงด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของทุก ๆ คนที่มาร่วมงานในวันนั้น คงพอเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า สายสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างยาวนานของทั้งจีนและไทยนั้นยังคงยืนหยัดและ ยืนยงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังตัวอักษรพู่กันจีนที่สมาคมศิลปะบูรพาฯ ได้เขียนขึ้นและมอบไว้เป็นที่ระลึกที่หอศิลป์แห่งนี้อย่างแน่นอน...
------------------------------------------------------
สุณิสา เจริญนา
๑๔ สิงหาคม ๕๒
http://www.thaiwriterassociation.org/columnread.php?id=191
--
โปรดอ่านบล็อก
http://www.pridiinstitute.com
http://www.nakkhaothai.com
http://apps.facebook.com/blognetworks/index.php
http://www.roundfinger.com/
http://twitter.com/sweetblog
http://twitter.com/oknewsblog
http://twitter.com/okblogger
http://twitter.com/sat191
http://www.pacc.go.th/
http://twitter.com/okblogchan
http://twitter.com/sun1951
http://twitter.com/smeblogger
http://twitter.com/seminarblog
http://twitter.com/sunnewsblog
http://twitter.com/okworldblog
http://twitter.com/ktblogger
http://twitter.com/sundayblog
http://twitter.com/mondayblog
http://twitter.com/tuesdayblog
http://twitter.com/wednesdayblog
http://twitter.com/thursdayblog
http://twitter.com/fridayblog
http://twitter.com/saturdayblog
http://www.deepsouthwatch.org/node/687
http://www.tu.ac.th/org/ofrector/tu_council/record/nopporn.htm
http://www.visalo.org/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น