"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Bookmark and Share
Blognone

วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

ครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาล ของ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘



เนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ นี้ องค์การยูเนสโกได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ให้บรรจุรายการฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาล ของ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ อยู่ในรายการที่ยูเนสโกจะร่วมเฉลิมฉลองด้วย และให้มีการเฉลิมฉลองตลอดปี พ.ศ. ๒๕๔๘

    และ ด้วยเหตุที่นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา เป็นบุคคลที่สมควรเป็นแบบอย่างของสังคมไทยเพราะเป็นนักคิดที่มีอุดมคติ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว มีความสามารถและมีความตั้งใจจริงในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณศิลป์ ทั้งยังมีความแข็งแกร่งทางจิตใจของนักหนังสือพิมพ์ รวมทั้งเป็นนักต่อสู้เพื่อสันติภาพ จนกระทั่งถูกจับกุมคุมขังถึง ๒ ครั้ง

    ใน การนี้ คณะอนุกรรมการฝ่ายรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา ใน คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) พิจารณาเห็นสมควรยกย่องมอบรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา แก่บุคคลที่มีแนวคิดเชิงอุดมคติซึ่งอุทิศตนเพื่อส่วนร่วมเช่นเดียวกับศรี บูรพาหรือนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้แก่บุคคลที่เป็นคนดี มีจิตใจเสียสละให้กับสังคม ทั้งยังเป็นการสร้างบุคคลแบบอย่าง อันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ เกิดประโยชน์แก่บุคคลอื่น และเป็นประโยชน์แก่สังคมในที่สุด โดยกำหนดให้มีการสรรหาโดยการเสนอชื่อบุคคล องค์กร และสื่อต่างๆผ่านคณะอนุกรรมการฝ่ายรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตัดสินต่อไป

    ทั้งนี้ให้แบ่งประเภทผู้รับรางวัลเป็น ๓ สาขาคือ

    ๑. สาขานักคิด-นักเขียน

    ๒. สาขานักหนังสือพิมพ์

    ๓. สาขานักต่อสู้เพื่อสันติภาพ

 

หลักเกณฑ์ในการพิจารราเพื่อเสนอชื่อให้คณะอนุกรรมการฝ่ายรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา

 

. เป็นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

. เป็นผู้ที่มีแนวคิดและการดำเนินชีวิตตามแนวทางของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ตามสาขานั้นๆ

๓. ชื่อเสียงและเกียรติคุณตามแนวทางกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในสาขานั้นๆ เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน

๔. เสนอชื่อได้สาขาละ ๑ ชื่อเท่านั้น

 

คณะกรรมการตัดสินรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา

 

    ๑. นายศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์)         ประธาน

    ๒. นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี                 กรรมการ

    ๓. นายพงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร               กรรมการ

    ๔. นางบัญญัติ ทัศนียเวช                 กรรมการ

    ๕. นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย           กรรมการ

       (นายไมตรี ลิมปิชาติ)

    ๖. นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์             กรรมการ

         (นางผุสดี คีตวรนาฏ)

๗. รองศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร          กรรมการและเลขานุการ

 

กำหนดการดำเนินงาน

 

พฤษภาคม ๒๕๔๘–กรกฎาคม ๒๕๔๘   เสนอชื่อผู้สมควรได้รับรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา

สิงหาคม ๒๕๔๘– กันยายน ๒๕๔๘  รวบรวมข้อมูล และพิจารณารายชื่อตามที่ได้รับการเสนอมา

ตุลาคม ๒๕๔๘ ตัดสินรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา

    จัดพิธีมอบรางวัล

 

กิตติกรรมประกาศ

 

    คณะ อนุกรรมการฝ่ายรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา ใน คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ขอถือโอกาสนี้แสดงคารวะอย่างสูงต่อท่านผู้เสนอชื่อ พร้อมทั้งผลงานอันประเสริฐจากหน่วยงานของรัฐ ของหน่วยงานเอกชน และบุคคลทั่วไป พร้อมทั้งการให้ข้อมูลเพิ่มเติม จนคณะอนุกรรมการฯสามารถคัดเลือกผู้ที่ถึงพร้อมคุณสมบัติทั่วไป และคุณสมบัติเฉพาะในด้านนักคิด-นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักต่อสู้เพื่อสันติภาพ ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ด้วยความภูมิใจยิ่ง

    

 

            (                                                         )

ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา


พิธีมอบรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบรูพา
News Line 236/2005 (November 2005) The 100th Anniversary of the Birth of Kulap Saipradit

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการมอบรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพาและงานเสวนา "อุดมธรรมกับสังคมไทย" ในวาระ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา ถึง ๑๐๐ ปี พุทธทาส เมื่อ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รมว.ศธ. กล่าวว่า วันนี้เป็นวันหนึ่งที่นำความสดชื่นเบิกบานมาสู่ทุกท่าน ณ ที่นี้ ตลอดจนผู้ที่ได้รับทราบข่าวคราวครั้งนี้ ประการหนึ่งเป็นวันประกาศเกียรติคุณของบุคคลสำคัญระดับโลก นักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่อุทิศชีวิตเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และสันติภาพ คือ ท่านกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา อีกประการหนึ่ง เป็นวันประกาศเกียรติคุณบุคคลผู้มีผลงานและจริยวัตรที่สมควรเป็นแบบอย่างของ สังคมไทย ตามแบบของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา
ท่านกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นคนดี เป็นแบบอย่างที่สมควรแก่การยกย่องและการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิต อยู่ในสังคมไทย อยู่ในยุคสมัยร่วมกับเราในวันนี้ ก็เป็นที่เรื่องน่ายินดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะแสดงว่า สังคมของเรายังมีผู้สมควรแก่การเป็นแบบอย่างที่ดีอยู่
รมว.ศธ. ได้แสดงความชื่นชมและขอบคุณคณะอนุกรรมการฝ่ายรางวัลเกียรติคุณและผู้เกี่ยว ข้องทุกท่านที่ได้ตั้งใจทำงานจนเกิดวันนี้ขึ้นมา รวมทั้งได้แสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล เกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา ในครั้งนี้จำนวน ๓ ท่าน คือ นายสุวัฒน์ วรดิลก ในฐานะนักคิดนักเขียน นายขรรค์ชัย บุนปาน ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ และศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสันติภาพ การมอบรางวัลของคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา ครั้งนี้ จะเป็นสิ่งบำรุงกำลังใจให้ท่านทั้งสามได้มีพลังทำงานสร้างสรรค์สังคม และผลงานความดีที่ท่านปฏิบัติมา ได้เกื้อกูลหนุนส่งให้ท่านมีสุขภาพจิตที่สดใส สุขภาพกายที่แข็งแรง เป็นหลักชัยให้คนรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป


ประวัติ นายสุวัฒน์ วรดิลก
สุวัฒน์ วรดิลก

นายสุวัฒน์ วรดิลก (นามสกุลเดิม "พรหมบุตร") เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่บ้านริมคลองข้างวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ ๒ ของอำมาตย์โทพระทวีปธุรประศาสน์ (วร วรดิลก) และนางจำรัส วรดิลก

เนื่องจากบิดาเป็นข้าราชการกรมการปกครอง ในวันเยาว์จึงต้องย้ายตามบิดาไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ทำให้ต้องย้ายโรงเรียนบ่อยๆ โดยเริ่มเรียนเตรียมปี ๑ (ปัจจุบันคือระดับอนุบาล) ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ในกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๗๒ ย้ายมาเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ที่โรงเรียนประจำจังหวัดกระบี่ ชื่อโรงเรียนอมาตยาพิทยา ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ มาเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑

หลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เกิดกรณี "กบฏบวรเดช" ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ส่งผลให้บิดาต้องลาออกจากราชการ ซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้ครอบครัวเปลี่ยนนามสกุลใหม่ จาก "พรหมบุตร" เป็น "วรดิลก" สุวัฒน์ วรดิลก เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ ที่โรงเรียนมัธยมวัดโสมนัสวรวิหาร และเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ ที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ต่อมาสอบเข้าเรียนต่อระดับเตรียมปริญญาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการ เมือง รุ่นที่ ๓ และเรียนต่อในระดับปริญญา ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพื่อตามใจบิดาโดยที่ไม่ได้มีใจชอบวิชากฎหมาย แต่อยากเรียนทางอักษรศาสตร์มากกว่า จึงทำให้เรียนไม่จบ

ระหว่างเรียนกฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้เริ่มต้นทำงานเป็นข้าราชการวิสามัญ ตำแหน่งผู้คุมตรี ที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย ทำได้หนึ่งปีก็มาสอบได้งานเป็นเสมียนการเงิน ที่กรมบัญชีกลางทหารเรือ ทำอยู่ได้ปีเดียวก็กลับมาสอบได้เป็นเสมียนพนักงาน ของกรมราชทัณฑ์ ช่วงนี้เองได้เริ่มทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ เอกราช ของ อิศรา อมันตกุล ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ต่อมาด้วยความปรารถนาที่จะเป็นนักอักษรศาสตร์จึงได้ลาออกจากราชการ

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ "ตราบใดสุรีย์ส่องโลก" ใช้นามปากกา ส.วรดิลก ได้ตีพิมพ์ใน ข่าวภาพ รายสัปดาห์ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่ปรากฏผลงานเขียนออกมาอีก ต่อมาเมื่อ วิตต์ สุทธเสถียร ออกหนังสือพิมพ์ ชาติไทยวันอาทิตย์ คู่กับ ชาติไทยรายวัน ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ มีนโยบายสนับสนุนนักเขียนใหม่ สุวัฒน์ วรดิลก จึงมีโอกาสเขียนเรื่องสั้นอีกครั้ง โดยคราวนี้เขียนเรื่องสั้นชื่อ "เงามะพร้าวที่นาชะอัง" ที่ได้รับความสนใจจากนักอ่านจนทำให้สามารถเขียนเรื่องต่อมาได้อีกมาก ทั้งเรื่องรัก เช่น "ไออุ่นจากทรวงนาง" "ระอารัก" "ภูษิตเรียกเมียด้วยเสียงซอ" เรื่องวิจารณ์หรือเสียดสีสังคม เช่น "เทพเจ้า" "อีเงาะ" "ผีเข้าอีจง" เรื่องอิงพงศาวดาร เช่น "คำให้การ" "ในกระแสแห่งยุติธรรม" เรื่องกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกทางจริยธรรมและมนุษยธรรม เช่น "มวยแถม" คนข้างหลืบ" เป็นต้น

สุวัฒน์ วรดิลก เป็นนักข่าวประจำโรงพักให้หนังสือพิมพ์ เอกราช ได้ครึ่งปี อิศรา อมันตกุล เห็นว่าไม่เหมาะกับหน้าที่นี้จึงได้เปลี่ยนให้เขียนเรื่องในเล่ม เรื่องสั้นที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ "ท่องไปในแดนรัฐประหาร" (พ.ศ. ๒๔๙๐) ซึ่งเขียนก่อนเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ ต่อมาได้รับอนุญาตให้เขียนนวนิยายประจำฉบับ เรื่องแรกคือ "สัญญารักของจอมพล" เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ในระยะนี้เองเกิดล้มป่วยด้วยวัณโรคที่ขั้วปอดอย่างรุนแรง เมื่อหายป่วยแล้ว หนังสือพิมพ์ เอกราชถูกสั่งปิด ชีวิตนักหนังสือพิมพ์จึงสิ้นสุดลง

ต่อมา สุวัฒน์ วรดิลก ได้ไปฝากตัวกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ระดับคุณภาพมาตรฐานของยุคนั้น โดยได้ส่งเรื่องสั้นเกือบ ๑๐ เรื่องให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พิจารณา แต่ได้รับการตีพิมพ์เพียงเรื่องเดียว คือ "เขาและหล่อนอยู่กันคนละซีกโลก" หลังจากนั้นจึงมีผลงานได้รับการตีพิมพ์อีกเรื่องคือ "ทุ่งทานตะวัน"

ผลงานนวนิยายของ สุวัฒน์ วรดิลก เริ่มปรากฏในหน้านิตยสารภายหลังจากที่เขียนเรื่องสั้นมาได้ ๒ ปี ผลงานเรื่องแรก "เปลวสุริยา" ใน ปิยะมิตร ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง และทำให้ยอดจำหน่ายของหนังสือเล่มนี้พุ่งสูงขึ้นสู่ความนิยมสูงสุดในช่วงต้น ทศวรรษ ๒๔๙๐ ผลสำเร็จจากเรื่อง "เปลวสุริยา" นี้เอง ทำให้เกิดผลงานเรื่อง "ราชินีบอด" และเรื่องอื่นๆตามมา ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ผู้เขียนเป็นนักประพันธ์รุ่งโรจน์แห่งยุค และทำให้ยึดการประพันธ์เป็นอาชีพเรื่อยมา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ละครเวทีไทยประเภทชายจริงหญิงแท้เป็นมหรสพที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากภาวะสงครามทำให้อุปกรณ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ขาดแคลน ไม่สามารถผลิตภาพยนตร์ป้อนโรงภาพยนตร์ได้ ละครเวทีจึงมีบทบาทสำคัญขึ้นแทน

สุวัฒน์ วรดิลก เริ่มเขียนบทละครเวทีเรื่องแรกจากผลงานของตนเองคือ "สัญญารักของจอมพล" ให้คณะเทพอำนวย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากยังไม่มีความรู้เรื่องการเขียนบทละครเท่าที่ ควร ต่อมาได้รู้จักกับ จุมพล ปัทมินทร์ และ น.อ. สวัสดิ์ ทิฆัมพร แห่งคณะศิวารมณ์ ได้รับการติดต่อขอซื้อ "เปลวสุริยา" เพื่อทำละคร สุวัฒน์ วรดิลก ตัดสินใจเขียนบทละครเอง โดยได้รับคำแนะนำวิธีการเขียนบทละครจาก ครูเนรมิต ทำให้ "เปลวสุริยา" เป็นบทละครเวทีที่สมบูรณ์เรื่องแรกของสุวัฒน์ วรดิลก

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๔ สุวัฒน์ วรดิลก มุ่งมั่นเขียนบทละครเวทีมาก จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญถึงขั้นสามารถกำหนดผู้ชมได้ล่วงหน้าว่าจะให้ชอบตอนใด บ้าง โดยกลวิธีการเขียนให้มีภาวะวิกฤต (Climax) ในทุกๆฉาก

สุวัฒน์ วรดิลก ทุ่มเทให้กับงานละครเวที เป็นผู้บุกเบิกวงการละครเวทีของไทย ทำหน้าที่เขียนบท กำกับการแสดง อำนวยการแสดง ตั้งคณะละครขึ้นเองคือ "ชุมนุมศิลปิน" และได้มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อวงการละครมามากมาย เช่น การพยายามวางหลักการและจัดระบบแบ่งผลกำไร เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่นักแสดง

จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ละครเวทีเริ่มเสื่อมความนิยมลงจนที่สุดก็ต้องลาโรงไป สุวัฒน์ วรดิลก ลองหัดเขียนบทภาพยนตร์ดูบ้าง แต่ไม่ชอบ จึงกลับมาเขียนนวนิยายอีกครั้ง

วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กวาดล้างจับกุมนักคิดนักเขียนครั้งใหญ่ สุวัฒน์ วรดิลก และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ภรรยา ถูกจับกุมคุมขังและตั้งข้อหาร้ายแรงคือ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ระหว่างถูกขังอยู่ในคุกต่อสู้คดีในชั้นศาล สุวัฒน์ วรดิลก กลายเป็นบุคคลต้องห้ามสำหรับสังคมภายนอกนั้น ชาลี อินทรวิจิตร ตั้งคณะละครโทรทัศน์ขึ้น จึงมาชวนให้สุวัฒน์ วรดิลก เขียนบทละครโทรทัศน์ และเมื่อนำเรื่อง "God sees the eruth but waits" ของ ลีโอ ตอลสตอย มาเขียนเป็นบทละครเรื่อง "พระเจ้ารู้ทีหลัง" ก็ประสบผลสำเร็จจนทำให้ ชาลี อินทรวิจิตร ถูกหัวหน้าสถานีโทรทัศน์เรียกตัวไปสอบถาม ต่อมามีเรื่องชุด พระเจ้าออกมาอีก ๒ เรื่องคือ "พระเจ้ารู้ก่อนเสมอ" และ "พระเจ้าไม่รับรู้" ต่อมาเมื่อย้ายมาอยู่คุกสองที่ลาดยาว สุวัฒน์ วรดิลก รับจ้างเขียนบทละครวิทยุให้กับธนาคารอมมสิน เรื่องแรกคือ "ผีก็มีหัวใจ" ใช้นามปากกา ยุพดี เยาวมิตร

เมื่อ สุวัฒน์ วรดิลก ได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕ แล้ว (เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ภรรยาได้รับการปล่อยตัวออกมาก่อนแล้ว) ได้กลับไปอุปสมบทที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ตามคำแนะนำของบิดาและผู้บังคับการตำรวจสันติบาล (พล.ต.ต. ชัช ชวางกูร) หลังจากลาสิกขาบทแล้วจึงได้กลับมาเขียนนิยายอีกครั้ง

นามปากกา รพีพร เริ่มใช้จากการเขียนนวนิยายเรื่อง "ภูติพิสวาศ" ที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ แสนสุขรายสัปดาห์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และเรื่องที่สองคือ "ลูกทาส" ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ส่งผลให้ชื่อ รพีพร โด่งดังติดตลาด สามารถกอบกู้ฐานะทางการประพันธ์ เศรษฐกิจและสังคมได้ในเวลาอันรวดเร็ว ต่อมาจึงเกิดนามปากกา ไพร วิษณุ เขียนนวนิยายชีวิตโลดโผนประเภทป่าเขาลำเนาไพร ศิวะ รณชิต เขียนนวนิยายการเมือง และ สันติ ชูธรรม ซึ่งใช้เขียนนวนิยายการเมืองเพียงเรื่องเดียวคือ พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม (เดิมชื่อ พ่อข้าไม่ผิด)

สุวัตน์ วรดิลก ตั้ง ชมรมนักเขียน ๕ พฤษภา ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ และได้เป็นประธานชมรม โดยมีจุดประสงค์เพื่อหาเงินช่วย เลียว ศรีเสวก เจ้าของนามปากกา อรวรรณ เพื่อนนักเขียนคนหนึ่งที่แพทย์สันนิษฐานว่าเป็นมะเร็งที่หลอดลม ถูกตัดหลอดเสียงออก ต่อมาชมรมนี้ได้พัฒนาเป็น สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ สุวัฒน์ วรดิลก หันมาสนใจงานคุณภาพที่มีเนื้อหารับผิดชอบต่อสังคมและแนวการเมือง จึงนำเรื่อง "พิราบแดง" ที่เขียนค้างเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ มาเขียนต่อจนจบ และเขียนเรื่องใหม่ในชุด "แผ่นดิน" ได้แก่ แผ่นดินเดียวกัน แผ่นดินของเขา ฝากไว้ในแผ่นดิน และเขียนนวนิยายสะท้อนสังคม เช่น นกขมิ้นบินถึงหิมาลัย คามาล พิราบเมิน เป็นต้น

เนื่องด้วยปัญหาด้านสุขภาพและความสูงวัย หลังจากที่ได้ผ่าตัดใหญ่ทำ By pass เส้นเลือดเข้าหัวใจ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ทำให้ สุวัฒน์ วรดิลก ไม่สามารถตรากตรำทำงานหนักต่อไปได้อีก นวนิยายเรื่องสุดท้ายที่เขียนจึงค้างไว้ไม่จบ คือ "ทอง-นาก" ตีพิมพ์ในนิตยสาร สกุลไทย

ผลงานการประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก มีทั้ง เรื่องสั้น นวนิยาย บทละครโทรทัศน์ บทละครวิทยุ บทภาพยนตร์ และสารคดี ที่มากที่สุดคือนวนิยาย มี ๘๘ เรื่อง รางวัลสำคัญที่ได้รับมี รางวัลพระราชทานตุ๊กตาทองภาพยนตร์เรื่อง "ลูกทาส" ในฐานะเจ้าของบทประพันธ์ยอดเยี่ยม พ.ศ. ๒๕๐๗ รางวัลชมเชยประเภทนวนิยาย เรื่อง ขอจำจนวันตาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๐ รางวัลชมเชยประเภทเรื่องสั้น จากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด เหนือจอมพลยังมีจอมคน จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๔ และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิปล์ พ.ศ. ๒๕๓๔ จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


คำประกาศ รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา สาขานักคิด-นักเขียน

นายสุวัฒน์ วรดิลก เป็นนักคิด นักเขียน นักการละคร และนักกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ได้มีส่วนสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่าฝากไว้ในบรรณพิภพ เป็นผู้ร่วมบุกเบิกและสร้างความเจริญให้แก่วงการละครเวทีของไทย อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งองค์กรขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือเกื้อกูลบุคลากรและแวดวงวรรณกรรม

ด้วยความรักในการอ่านและการเขียน ผนวกกับความสนใจในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พงศาวดาร สุวัฒน์ วรดิลก จึงได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมขึ้นในรูปแบบนวนิยายเริงรมย์และนวนิยายเริง ปัญญา ซึ่งมีทั้งที่เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ นวนิยายการเมือง และนวนิยายแนวชีวิตครอบครัว เพื่อสื่อสารกับสังคมไทยในเรื่องปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม แสดงทัศนคติและอุดมคติทางการเมือง และการส่งเสริมสิทธิสตรี

และจากการเขียนนวนิยาย สุวัฒน์ วรดิลก ได้ย่างก้าวสู่การเขียนบทละครเวที นับว่าเป็นการขยายวงของงานเขียนออกไป จนในที่สุดก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการบุกเบิก วางรากฐานให้แก่วงการละครเวทีของไทยในยุคที่เจริญขึ้นถึงขีดสุด อันเป็นประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งของวงการบันเทิงในช่วงเวลาระหว่างสงคราม โลกครั้งที่ ๒ ที่จะต้องจารึกไว้

สุวัฒน์ วรดิลก ยังเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการก่อตั้ง สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และกองทุนต่างๆเพื่อสนับสนุนและส่งเสริม บุคลากรในวิชาชีพการประพันธ์ให้สามารถมีเวทีและเป็นตัวแทนในการเรียกร้อง สิทธิ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ ทั้งในชุมชนนักวรรณกรรมเอง และสังคมสาธารณะ ยังผลให้วงการประพันธ์มีความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นและมีพัฒนาการร่วมกันมาก ยิ่งขึ้น

ในฐานะนักคิด สุวัฒน์ วรดิลก เป็นผู้นำทางความคิดที่ได้แสดงออกอย่างจริงจังถึงการต่อสู้เพื่อความเป็น ธรรมในสังคม ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ การเมืองที่มีคุณธรรมและตรงไปตรงมา รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของสตรีในสังคม

ในฐานะนักเขียน ผลงานวรรณกรรมของ สุวัฒน์ วรดิลก ทั้งในนามจริงและในนามปากกาต่างๆ อาทิ รพีพร ศิวะ รณชิต สันติ ชูธรรม และ ไพร พิษณุ ซึ่งมีมากมายนั้น เป็นทั้งสื่อแห่งความบันเทิงที่ช่วยสร้างความบันเทิงให้แก่สังคมโดยไม่นำลง สู่ความเสื่อม เป็นทั้งสื่อแห่งอุดมคติและสติปัญญาที่ช่วยสืบสาน ส่งเสริม และสร้างสรรค์ ทั้งสังคมวงกว่างและสังคมวรรณกรรมไปพร้อมกัน

ในฐานะนักกิจกรรมเพื่อสังคม องค์กรต่างๆที่ สุวัฒน์ วรดิลกได้มีส่วนในการก่อตั้งขึ้นทั้งหลาย ได้กลายเป็นองค์กรสำคัญในการพิทักษ์รักษาสิทธิ ความถูกต้องเป็นธรรม เป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมสร้างรากฐานและความก้าวหน้าของวิชาชีพการประพันธ์ ตลอดจนมีส่วนในการช่วยเหลือเกื้อกูลพี่น้องผองเพื่อนร่วมวิชาชีพได้ไม่น้อย

ด้วยบทบาททางสังคมและผลงานที่มีคุณค่าความหมายอันเป็นที่ปรากฏในวงวรรณกรรม ที่เป็นได้ทั้งบันทึกทางสังคมและเป็นทั้งผลงานนฤมิตกรรมของนายสุวัฒน์ วรดิลก ซึ่งคิดและเขียนด้วยเจตนารมณ์ อุดมคติ และสำนึกทางสังคม ด้วยการอุทิศตน เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมและสันติสุข อันสอดคล้องกับอุดมคติและแนวทางดำเนินชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)

คณะกรรมการตัดสิน รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา จึงขอประกาศเกียรติคุณให้ นายสุวัฒน์ วรดิลก เป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา สาขานักคิด-นักเขียน เนื่องในวาระแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และวาระที่องค์การยูเนสโกบรรจุชื่อนายกุหลาย สายประดิษฐ์ไว้ในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของโลก.

( )
ประธานคณะอนุกรรมการ รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา

ประวัติ นายขรรค์ชัย บุนปาน
ขรรค์ชัย บุนปาน

ขรรค์ชัย บุนปาน เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่ราชบุรี บิดาชื่อ ไข่ มารดาชื่อ ชูศรี (จะกรุดแก้ว) บิดาเป็นครูและมารดาประกอบอาชีพค้าขาย ปีต่อมาบิดาซึ่งเป็นครูย้ายมาเป็นศึกษาธิการอำเภอ ที่อำเภอบางขุนเทียน จึงติดตามบิดามา เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียน ในละแวกบางขุนเทียนนั้นจนจบประถมสี่จากโรงเรียนวัดหนังราชวรวิหาร จบมัธยมศึกษาปีที่หกจากโรงเรียนวัดราชโอรสาราม และไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๗-๘ ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ

ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศนี้เองที่ขรรค์ชัยได้พบและรู้จักกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งต่อมาเป็นเพื่อนรักกัน ได้ร่วมคิดร่วมเขียนและร่วมทำหนังสือมาด้วยกันจนได้รับฉายาร่วมกันว่า "สองกุมารสยาม" (เมื่อใดที่เอ่ยถึงคนหนึ่งจะละเว้นที่ไม่เอ่ยถึงอีกคนหนึ่งไม่ได้)

จากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ขรรค์ชัย บุนปาน สอบตก ม. ๗ จึงย้ายมาเรียนต่อที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) ต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๐ ได้อุปสมบทที่วัดราชโอรสาราม สอบได้นักธรรมตรี หลังจากนั้นสอบเรียนต่อได้ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เช่นเดียวกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเริ่มมีผลงานรวมเล่มพิมพ์เผยแพร่ โดยเป็นผลงานร่วมกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ทั้งในรูปบทกวีและเรื่องสั้น เล่มแรกคือ นิราศ (๒๕๐๗) มี เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เป็นผู้จัดพิมพ์ และหลังจากนั้นก็มีผลงานเขียนร่วมกัน ๒ คนรวมเล่มออกมาอย่างต่อเนื่อง คือ นิราศ (๒๕๐๗) กลอนลูกทุ่ง (๒๕๐๘) เห่ลูกทุ่ง (๒๕๐๙) ครึ่งรักครึ่งใคร่ (๒๕๑๑) กูเป็นนิสิตนักศึกษา (๒๕๑๑) และ หันหลังชนกัน (๒๕๑๓) ซึ่งเป็นช่วงปีสุดท้ายก่อนจะจบการศึกษา

ในระหว่างที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรนี่เอง ที่ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เริ่มมีบทบาทในแวดวงหนังสือและการเขียน โดยทั้งคู่ได้รับทำนิตยสาร ช่อฟ้า รายเดือน ของมูลนิธิอภิธรรมวัดมหาธาตุ ที่ต่อมาได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของ "กลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย" ๑ ในกลุ่มปัญญาชนนักคิดนักเขียนในช่วงยุคก่อน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม ที่โดดเด่นเช่น "ชมรมพระจันทร์เสี้ยว" และ "เจ็ดสถาบัน"

เมื่อจบการศึกษาแล้ว ขรรค์ชัย บุนปาน ได้ทำงานเป็นครูที่โรงเรียนมาร์แตร์เดอีระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายมาทำงานที่ห้างเซ็นทรัล หลังจากนั้นจึงเข้าทำงานในสายวิชาชีพหนังสือพิมพ์อย่างจริงจังมาจนปัจจุบัน เริ่มจากการทำงานที่หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งสุจิตต์ วงษ์เทศ เข้าไปทำงานอยู่ก่อนแล้ว ทำงานที่ สยามรัฐ ได้ประมาณ ๓ ปี เมื่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ กลับจากลาพักงานไปสหรัฐอเมริกา ก็ถูกไล่ออกพร้อมกัน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕

การถูกไล่ออกจาก สยามรัฐ นี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานหนังสือพิมพ์อย่างหนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น โดยการระดมทุนจัดตั้งโรงพิมพ์คือ โรงพิมพ์พิฆเนศ ขึ้น หลังจากที่ตั้งโรงพิมพ์ ขรรค์ชัย บุนปาน มาทำงานที่หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ โดยมีผู้ดูแลกิจการโรงพิมพ์พิฆเนศคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งได้เขียนคอลัมน์ใน ไทยรัฐ ด้วย

ต่อมา หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ขรรค์ชัย บุนปานและเพื่อนร่วมกันออกหนังสือพิมพ์ ประชาชาติรายสัปดาห์ โดยออกในนาม เดอะเนชั่น ของ สุทธิชัย หยุ่น จากนั้นก็ออก ประชาชาติรายวัน จนกระทั่งต้องหยุดไปเพราะเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

เมื่อสถานการณ์ทางสังคมเริ่มคลี่คลาย ขรรค์ชัย บุนปานและเพื่อนจึงได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ มติชน ขึ้น โดยออกหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน และ มติชนสุดสัปดาห์ ที่เน้นเนื้อหาของข่าวสารสาระ ปัจจุบันได้ขยายกิจการเป็นบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของไทยใน ชื่อ บริษัทมติชนจำกัด (มหาชน)

ขรรค์ชัย บุนปาน มีผลงานรวมเล่มของตนเองหลายเล่ม เช่น ชานหมากนอกกระโถน เศรษฐศาสตร์ข้างถนน หนี นานาสังวาส ใบลานหลังธรรมาสน์ ประดับไว้ในโลกา ฟ้าแล่บแปล๊บเดียว และ กลีบเกษรหอมหวานแต่วานนี้ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นกวี นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ และนักบริหารจัดการ



คำประกาศ รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา

นายขรรค์ชัย บุนปาน เป็นกวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักบริหารจัดการที่ได้มีส่วนทำให้สถาบันสื่อมวลชนไทยมีคุณภาพและเข้มแข็ง ขึ้น ด้วยการยึดมั่นในหลักการ จรรยาบรรณหนังสือพิมพ์ และดำรงความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ

ด้วยความรักในภาษาและหนังสือไทย โดยเฉพาะความสนใจเป็นพิเศษต่อความรู้ดั้งเดิมที่เป็นรากฐานทางศิลปะและ วัฒนธรรมของไทย ขรรค์ชัย บุนปาน จึงได้เริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานเขียนด้วยงานร้อยกรอง ที่ยึดเอาขนบเดิมเป็นแนวทาง และได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมในรูปของเรื่องสั้นและนวนิยายในเวลาต่อมา กล่าวได้ว่า เวทีหรือสนามประลองทางความคิดของขรรค์ชัย บุนปาน เริ่มต้นที่ท้องทุ่งแห่งศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ชีวิตความเป็นอยู่ รสนิยม และสำนึกของคนร่วมสมัย ที่มีความตรงไปตรงมาและทั่วถึงคือ ไม่เว้นแม้แต่การวิพากษ์ตนเอง

การเริ่มต้นจากความรักในงานเขียน สู่การทำงานหนังสือและในที่สุดก็ได้เติบโตขึ้นมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ ขรรค์ชัย บุนปานได้เปิดพื้นที่จากท้องทุ่งแห่งศิลปะและวัฒนธรรมมาสู่โลกของสังคม เศรษฐกิจและการเมือง การเฝ้าติดตามดูความเป็นไปของทั้งบุคคลและสังคม แล้วกล่าวทักตักเตือน ให้สติ และบางครั้งบางคราวก็แนะแนวชี้นำทางให้เพื่อเป็นทางออกด้วยในบทบาทของนัก เขียนคอลัมน์

ในฐานะของกวี และนักเขียน ซึ่งมีความรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นอย่างดี นายขรรค์ชัย บุนปานได้นำความรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่มีอยู่มาสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมวิชาชีพของตนเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งสังคมที่ดี

ในฐานะของนักหนังสือพิมพ์ นายขรรค์ชัย บุนปาน เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่ยอมอ่อนข้อต่อความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมในสังคม และในบทบาทของผู้บริหารหนังสือพิมพ์ นายขรรค์ชัย บุนปาน ได้เป็นหลักสำคัญขององค์กรในการที่จะสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับที่ มีพันธกิจรับผิดชอบต่อสังคมได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อธำรงไว้ซึ่ง การทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม จนทำให้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่อยู่ในการบริหารงานของนายขรรค์ชัย บุนปาน มีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือว่าเป็นสื่อที่นำความจริงสิ่งถูกต้องมาสู่สังคมโดย รวม

ด้วยบทบาททางสังคมและผลงานที่มีคุณค่าความหมาย ที่เป็นได้ทั้งหลักฐานประวัติศาสตร์และเป็นทั้งผลงานนฤมิตกรรมของนายขรรค์ ชัย บุนปาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะนักหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อนำเสนอข่าวสารสาระ โดยเน้นที่การให้ข้อเท็จจริง และด้วยความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาในวิชาชีพ เจตนารมณ์ อุดมคติ และสำนึกทางสังคม ตลอดจนการอุทิศตน เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมและสันติสุขของสังคม อันสอดคล้องกับอุดมคติและแนวทางดำเนินชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)

คณะกรรมการตัดสิน รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา จึงขอประกาศเกียรติคุณให้ นายขรรค์ชัย บุนปาน เป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา สาขานักหนังสือพิมพ์ เนื่องในวาระแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และวาระที่องค์การยูเนสโกบรรจุชื่อนายกุหลาย สายประดิษฐ์ไว้ในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของโลก.

( )
ประธานคณะอนุกรรมการ รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา


ประวัติ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก
ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก

ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก เป็นบุตรนายอุ้ย และนางเนย จามริก ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๗๐ ที่อำเภอบางมูลนาค จังหวัดพิจิตร เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องสองคน

การศึกษา เริ่มเรียนระดับประถมศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่โรงเรียนประจำอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๕ ที่โรงเรียนประจำจังหวัดนครสวรรค์ หลังจากนั้นเดินทางมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ที่โรงเรียนวัดราชบพิธ เข้าเรียนต่อชั้นเตรียมปริญญา และระดับปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศทางด้านการบริหาร จบการศึกษามหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐

สมรสกับแพทย์หญิง อำนวยศรี (สกุลเดิม) ชุตินธร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘

ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เริ่มรับราชการครั้งแรกที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๔๙๓ แล้วย้ายไปอยู่กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษได้เข้ารับราชการต่อที่หน่วยงานเดิม จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงได้มาเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้ก่อตั้ง "โครงการรัฐศาสตร์ศึกษา" ขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักคือให้ผู้ศึกษาเป็นผู้มีคุณภาพทางวิชาการ รู้จักคิดอ่านและมองสภาวะด้านการเมืองที่เป็นอิสระเสรี พ้นไปจากสภาพระบบพันธนาการที่เป็นอยู่ขณะนั้น เพื่อให้คานกับการศึกษารัฐศาสตร์ที่มุ่งผลิตคนเพื่อป้อนระบบราชการโดยไม่ใส่ ใจกับบทบาทการพัฒนาระบบสังคมและการเมืองของสังคมในวงกว้าง ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นหัวหน้าโครงการที่ก่อตั้งขึ้นนี้ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๕ และในช่วงเวลาดังกล่าวยังได้เป็นหัวหน้าสาขาวิชาการระหว่างประเทศด้วย

ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗

ร่วมก่อตั้ง "สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน" (ปัจจุบันเป็น "สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)) และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสหภาพฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๑๘

ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘

ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ในคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๑๙ และเป็นผู้รักษาราชการอธิการบดีในช่วงที่เกิด "วิกฤตการณ์บุกเผามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ซึ่งได้แก้ไขเหตุการณ์ตึงเครียดนั้นอย่างสุขุมและมีการประสานงานกับผู้ร่วม งานอย่างดียิ่ง ทำให้วิกฤตกาลครั้งนั้นผ่านพ้นไปโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิด โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้จดทะเบียนเป็น มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ได้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธินี้มาจนถึงปัจจุบัน

ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๔ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะทำงานศึกษานโยบายพัฒนาชนบท ซึ่งต่อมารัฐบาลได้นำหลักการที่สำคัญจากเอกสารการศึกษานี้ไปประกาศเป็น ทศวรรษแห่งการพัฒนาชนบทไทย

ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๘ และระหว่างปี ๒๕๒๗-๒๕๓๕ ก็ได้เป็นกรรมการ Council of Trustees, Thailand Development Research Institute. (TDRI)

ตำแหน่งสุดท้ายของศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ก่อนลาออกจากราชการในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ คือ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา โดยได้ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๘

ในช่วงปีสุดท้ายของชีวิตราชการ พ.ศ. ๒๕๓๐ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา และดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิด้วย

หลังลาออกจาราชการ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ได้ทำงานที่เน้นไปในเรื่องของสังคมชนบท การพัฒนาชุมชน ในรูปขององค์กรพัฒนาเอกชน และงานที่เน้นในเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๓๔ ได้เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เป็นรองประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ต่อมาเป็นประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔-๒๕๓๗ แล้วเป็นผู้อำนวยการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา-อีสาน ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๔ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ก็ได้รับเป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งมาจนปัจจุบัน

งานสำคัญในด้านการศึกษาของ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก คือ การเป็นประธานอนุกรรมการศึกษาหาแนวทางสำหรับการพัฒนาการศึกษาในอนาคต ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ และเป็นอนุกรรมการที่ปรึกษา ในโครงการชนบทศึกษา ของทบวงมหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๔

ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ได้รับ ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘

ได้รับ ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔

ได้รับ ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓

นอกจากนี้ยังได้รับเลือกให้เป็น นักสิทธิมนุษยชนดีเด่น สาขาการวิจัยและการศึกษา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑

ผลงานของศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก มีทั้งที่เป็นหนังสือ เช่น ปัญหาและอนาคตของเมืองไทย (๒๕๑๙) การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ (๒๕๒๙) สังคมไทยกับการพัฒนาที่ก่อปัญหา (๒๕๓๗) ฐานคิด : สู่ทางเลือกใหม่ของสังคมไทย (๒๕๔๑) และ สิทธิมนุษยชน เส้นทางสู่สันติประชาธรรม (๒๕๔๓) หนังสือแปล เช่น แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ (๒๕๐๗) แปลจาก Economic Development in Perspective ความคิดทางการเมือง จากเปลโตถึงปัจจุบัน (๒๕๑๐) แปลจาก Political Thought : from Plato to the Present บทความ เช่น "การเมืองไทยกับการปฏิวัติตุลาคม" (๒๕๑๗) "พุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชน" (๒๕๒๓) "แนวความคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง" (๒๕๒๙) นอกจากนี้ยังมีเอกสารวิชาการ บทวิจารณ์หนังสือ คำปาฐกถา บทบรรยายและอภิปรายอีกด้วย



คำประกาศ รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา สาขานักต่อสู้เพื่อสันติภาพ

ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก เป็นนักวิชาการ นักวิจัย นักพัฒนาสังคม นักสิทธิมนุษยชน และครู ผู้มีส่วนในการวางรากฐานวิชาความรู้และพัฒนาการทางรัฐศาสตร์ สังคมการการเมือง การศึกษา การให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างมีนัยสำคัญ

ด้วยความเป็นนักวิชาการที่ทรงความรู้ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ได้แสดงความคิดเห็นต่อระบบการเมืองและสังคมไทยเอาไว้เป็นหนังสือ บทความ เรื่องแปล จำนวนหนึ่ง โดยผลงานทั้งหมดเป็นการพยายามจะศึกษาแก่นของปัญหา พร้อมทั้งเสนอทางออกของปัญหานั้นด้วย ดังนั้นงานเขียนของ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก จึงได้เชื่อมโยงเอาความรู้ในสาขาต่างๆของรัฐศาสตร์ ไม่ว่า รัฐประศาสนศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมืองการปกครอง และปรัชญาการเมืองผสมผสานเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีจุดเน้นของความรู้ความคิดและเล็งผลไปที่ประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นหลัก ด้วยการนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจ และเป็นไปตามหลักวิชา

ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก เป็นนักรัฐศาสตร์ที่ประกาศตัวเสนอถึงพันธะทางสังคม ด้วยความเชื่อประการสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ว่า "คุณธรรมคือความรู้ ซึ่งย่อมจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่" และต่อวิสัยทัศน์ที่ว่า รัฐศาสตร์ที่มีพันธะทางสังคมภาคไกลที่สุด คือ การเมืองมนุษย์ ที่มีสาระสำคัญคือการตอบคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรให้การเมืองกลายเป็นสิ่งเพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็น มนุษย์ ซึ่งนับวันจะต้องเสื่อมสูญลงเป็นลำดับ ด้วยเหตุประการนี้จึงทำให้ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา การพัฒนาสังคม และขบวนการสิทธิมนุษยชน จากบทบาทความเป็นนักวิชาการที่อยู่กับองค์ความรู้และทฤษฎีต่างๆ ได้ขยายมาสู่การเป็นนักพัฒนาผู้รังสรรค์และเคลื่อนไหวไปกับขบวนการต่อสู้ สร้างสรรค์เป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริง องค์กรต่างๆที่ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ได้ก่อตั้งหรือมีส่วนก่อตั้งขึ้นมาล้วนแต่เป็นกลไกและกำลังสำคัญในการขับ เคลื่อนขบวนการพัฒนาสังคมในเชิงคุณภาพที่เน้นสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ อย่างแข็งขัน

ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ได้ทุ่มเทชีวิตเพื่อค้นหาสัจธรรมทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา โดยไม่เห็นแก่อามิสทั้งในทางการเงินและการเมือง ผลงานทั้งหลายของ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ย่อมเป็นประจักษ์พยานอย่างดีถึงการอุทิศชีวิตเพื่องานวิชาการ โดยที่ใส่ใจต่องานสอนและการประพฤติตนเป็นอาจารย์ที่ดี

ด้วยบทบาททางสังคมและผลงานที่มีคุณค่าความหมายอันเป็นที่ปรากฏในแวดวง วิชาการและเครือข่ายองค์กรพัฒนา อันเกิดจากการทุ่มเทอุทิศให้ทั้งพลังใจและพลังสติปัญญา ของ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ซึ่งได้ใช้ความรู้ทางวิชาการเป็นเครื่องมือสื่อสาร สร้างสรรค์ผลงานขึ้นเพื่อให้ความรู้ ความคิด กระตุ้นจิตสำนึกทางสังคม และสร้างอุดมคติ ด้วยการอุทิศตน เพื่อรักษาเอาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันเป็นระบอบการปกครองที่เอื้อในการสร้างสันติประชาธรรมให้แก่สังคม อันสอดคล้องกับอุดมคติและแนวทางดำเนินชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)

คณะกรรมการตัดสินรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา จึงขอประกาศเกียรติคุณให้ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก เป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา สาขานักต่อสู้เพื่อสันติภาพ เนื่องในวาระแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และวาระที่องค์การยูเนสโกบรรจุชื่อนายกุหลาย สายประดิษฐ์ไว้ในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของโลก.

( )
ประธานคณะอนุกรรมการ รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา

http://www.sriburapha.net/100years_prize.php

--
โปรดอ่านบล็อก
http://www.pridiinstitute.com
http://www.nakkhaothai.com
http://apps.facebook.com/blognetworks/index.php
http://www.roundfinger.com/
http://twitter.com/sweetblog
http://twitter.com/oknewsblog
http://twitter.com/okblogger
http://twitter.com/sat191
http://www.pacc.go.th/
http://twitter.com/okblogchan
http://twitter.com/sun1951
http://twitter.com/smeblogger
http://twitter.com/seminarblog
http://twitter.com/sunnewsblog
http://twitter.com/okworldblog
http://twitter.com/ktblogger
http://twitter.com/sundayblog
http://twitter.com/mondayblog
http://twitter.com/tuesdayblog
http://twitter.com/wednesdayblog
http://twitter.com/thursdayblog
http://twitter.com/fridayblog
http://twitter.com/saturdayblog
http://www.deepsouthwatch.org/node/687
http://www.tu.ac.th/org/ofrector/tu_council/record/nopporn.htm
http://www.visalo.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
Thailand
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com