"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Bookmark and Share
Blognone

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เรื่องเล่าว่าด้วย "กระดิ่ง" "พาน" และวัฒนธรรมการเมืองไทย

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร หรือ พระองค์เจ้าธานีนิวัต



วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 23:30:11 น.  มติชนออนไลน์

เรื่องเล่าว่าด้วย "กระดิ่ง" "พาน" และวัฒนธรรมการเมืองไทย

โดย "บ๊อบบี้" และ "แบทแมน"

ประเด็นเรื่องการถวายฎีการ้องทุกข์ทางการเมืองและขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมวลชนคนเสื้อแดงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ท้าทายการถกเถียงแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาของบรรดาปราชญ์ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องสังคมการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง


เนื่องจากผู้เขียนบทความชิ้นนี้เป็นเพียงคนรุ่นหลังที่อ่อนด้อยความรู้ จึงไม่มีสติปัญญาเพียงพอที่จะถกเถียงอภิปรายประเด็นเรื่องการถวายฎีกาฯ ในแง่มุมทางด้านกฎหมาย (แม้บางครั้ง ผู้เขียนจะรู้สึกว่าผู้รู้หลายท่านพยายามอ้างอิงตัวบทกฎหมายในฐานะที่เป็นแก่นสารอันมั่นคงตายตัว กระทั่งกฎหมายที่พวกท่านเอ่ยอ้างมีลักษณะแข็งทื่อ กลายเป็น "กดหมาย" ที่ (สะ) กดสังคมไว้ไม่ให้มีพลวัตในท้ายที่สุด) หรือในแง่มุมทางด้านวัฒนธรรมการเมืองไทย (อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการถวายฎีกาฯนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ในบทความของท่านที่เพิ่งตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2552) อย่างเข้มข้นจริงจังได้ 


ดังนั้น ผู้เขียนจึงทำได้เพียงการหยิบเอาเกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองไทยบางเรื่องมาเล่าสู่กันฟังภายในบริบทของสังคมการเมืองยุคปัจจุบัน และอาจทำการวิเคราะห์เสริมท้ายโดยการให้ความสำคัญกับมิติทางด้านวัฒธรรมการเมืองบ้างเล็กน้อย ด้วยความเชื่อที่ว่าการมองปัญหาการเมืองไทยไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการพิจารณาปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมไปได้พ้น (เพราะแม้แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเอง ก็ยังต้องพึ่งพาประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมอย่าง "พจนานุกรม" มาช่วยใช้ตัดสินคดีความในบางกรณี)  


 

เรื่องของกระดิ่งสมัยสุโขทัย


เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพื้นฐานความคิดของการถวายฎีกาฯครั้งนี้ (รวมถึงครั้งอื่น ๆ) มาจากความเชื่อที่ว่า ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ไทยทรงปกครองราษฎรเสมือนบิดาปกครองบุตร โดยมีการแขวนกระดิ่งรับเรื่องราวร้องทุกข์จากบรรดาราษฎรอยู่หน้าพระราชวัง ดังที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงเอ่ยอ้าง เช่นเดียวกันกับการอธิบายเรื่องการถวายฎีกาโดยปัญญาชนฝ่ายขวาผู้เปรื่องปราดหลายท่าน


มีการตั้งคำถามว่าสมัยสุโขทัยนั้นมีระบบการปกครองเช่นนี้จริงหรือ เรื่อยไปจนถึงว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่บันทึกเรื่องราวการถวายฎีการ้องทุกข์ในสมัยสุโขทัยนั้นถูกสร้างขึ้นมาในยุคสุโขทัยจริงหรือไม่


อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา แนวคิดที่เชื่อมโยงพระมหากษัตริย์เข้ากับประชาชน ทั้งการพยายามอ้างอิงไปยัง "ประวัติศาสตร์อันสวยหรู" สมัยสุโขทัย ซึ่งถือเป็นรุ่งอรุณแห่งความสุขของรัฐ-ชาติไทย หรือการเสนอว่าพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่อดีตนั้นทรงได้รับการเลือกแล้วเทิดทูนขึ้นเป็นเจ้าชีวิตเจ้าแผ่นดินอย่างร่วมใจกันโดยประชาชน ตามคติ "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" ล้วนถูกริเริ่มและประมวลรวบยอดขึ้นมาโดย พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร หรือ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ผ่านงานวิชาการชิ้นสำคัญของพระองค์ คือ "The Old Siamese Conception of the Monarchy" ซึ่งปรับปรุงจากปาฐกถาที่ทรงแสดงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2489


พระองค์เจ้าธานีนิวัตทรงเป็นปราชญ์สายกษัตริย์นิยมที่ปราดเปรื่องมากท่านหนึ่ง ทรงมีบทบาทสำคัญในอภิรัฐมนตรีสภาซึ่งขัดขวางความพยายามของในหลวงรัชกาลที่ 7 ในการที่จะ "ปฏิรูปการเมืองไทย" ครั้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นครองอำนาจครั้งแรก พระองค์เจ้าธานีนิวัตทรงเก็บตัวทำงานวิชาการอยู่เงียบ ๆ ต่อมาทรงรับบทบาทเป็นพระอาจารย์ที่ถวายการอบรมตระเตรียมยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ คือ ในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้น ยังทรงได้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีในรัชสมัยปัจจุบัน สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร


ดังนั้น ในช่วงทศวรรษ 2490 - ทศวรรษ 2500 หลักการเรื่องบิดาปกครองบุตรที่มีการเอ่ยอ้างว่าสืบทอดมาจากยุคสุโขทัย จึงถือเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมยุคหลัง 2475 นำมาใช้เผชิญหน้ากับฝ่ายคณะราษฎรและฟื้นฟูสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้สามารถดำรงอยู่ได้ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย กระทั่งกลายเป็นหลักพื้นฐานของความคิดทางการเมืองที่สำคัญยิ่งสำหรับสังคมการเมืองไทยเรื่อยจนมาถึงยุคปัจจุบัน


เรื่องของพานทองในการเมืองไทย


นายวีระ มุสิกพงษ์ แกนนำคนเสื้อแดงได้ประกาศว่าจะนำใบฎีกานับแสนใบบรรจุลงบน "พานทองขนาดใหญ่" แล้วนำไปยื่นที่สำนักพระราชวัง ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมการเมืองไทยมีความข้องเกี่ยวกับพาน เพราะอย่างน้อย ถ้าเรามองขึ้นไปบนยอดของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตรงถนนราชดำเนิน เราก็จะพบรัฐธรรมนูญที่วางทอดอยู่บน "พานแว่นฟ้า" ตั้งตระหง่านอยู่ อนุสาวรีย์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ยุคแรก และพานแว่นฟ้าบนอนุสาวรีย์ก็ถือเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่เชิญชวนให้หลายคนเข้ามาร่วมตีความและแย่งชิงกันนิยามความหมายอย่างน่าสนใจ


มีงานวิชาการกลุ่มหนึ่ง (นำโดยบทความที่ชื่อว่า "สงครามอนุสาวรีย์กับรัฐไทย" ในหนังสือ "ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์" ของอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์) ที่เสนอว่า รัฐธรรมนูญภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 ไม่ได้เกิดจากการพระราชทาน แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ตัวแทนของประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ด้วยเหตุนี้เมื่อเป็นสิ่งที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไป จึงต้องมีการทอดรัฐธรรมนูญนั้นลงบนพานแว่นฟ้า หมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นสิ่งที่ส่งจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ไม่ใช่ส่งจากข้างบนลงมาข้างล่างแต่อย่างใด


 

เกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองทั้งสองเรื่องนี้คงไม่สามารถมีสถานะเป็นตัวแบบใดๆ ที่จะนำมาใช้วิเคราะห์เทียบเคียงกับปัญหาของสังคมการเมืองไทยในยุคปัจจุบันได้อย่างเที่ยงตรง เพราะบางเรื่องก็ดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์ที่ย้อนแย้งสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย ขณะที่บางเรื่องก็ดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์ที่วนกลับมาซ้ำรอยเดิม (อย่างไม่เหมือนเดิม) ท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่คล้ายจะแปรผันไปในยุคปัจจุบัน


แต่สิ่งเหล่านี้อาจแสดงให้เราเห็นว่าวัฒนธรรมการเมืองไทยนั้นไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่และมีพลวัตอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" จึงต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบททางการเมือง/ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ และมิได้มีสถานะเป็นเพียงบทบัญญัติอันแข็งทื่อตายตัวซึ่งผูกขาดกับ "ความจริง" เพียงหนึ่งเดียว จนไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของสังคมได้

                                   http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1249899492&grpid=no&catid=02

--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.net
http://www.familynetwork.or.th
http://sph.thaissf.org/
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://icann-ncuc.ning.com
http://dbd-52.hi5.com
http://www.webmaster.or.th
http://www.thailandshowtime.com/2009

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
Thailand
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com